top of page

 

             ก่อนปี พ.ศ. 2495 ชีวิตความเป็นอยู่และการศึกษาของคนพิการทางหู ล้วนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสถานะทางครอบครัวเป็นสำคัญ คนพิการทางหูยังไม่ได้รับการดูแลให้การศึกษาโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ไม่อาจสื่อความเข้าใจกันได้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดอุปสรรคนานับประการ จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคนพิการทางหูให้มีสิทธิ ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับคนทั่วไป

ดังนั้น จึงได้มีหนังสือเชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมก่อตั้งมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดังใจความในหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการที่ 171/2495 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2495 กล่าวว่า

“กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นว่า  คนใบ้หรืออีกนัยหนึ่งคนหูหนวกนั้น  ถ้าได้รับการสอนด้วยวิธีพิเศษแล้ว  ก็สามารถได้รับการศึกษาและกลับเป็นพลเมืองดี  มีประโยชน์แก่ประเทศชาติได้  เช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย จึงได้เปิดหน่วยสอนคนหูหนวกขึ้นที่ โรงเรียนเทศบาล 17 (วัดโสมนัส) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2494 เป็นการฉลองวันที่ระลึกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ  พร้มกันปรากฏว่า  การอนุเคราะห์บุคคลพิการประเภทนี้เป็นการสาธารณกุศลอันเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปด้วย มีผู้บริจาคที่ดินเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนสอนคน   หูหนวก มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงกิจการของหน่วยนี้เรื่อย ๆ มา  กระทรวงศึกษาธิการจึงดำริว่า  สมควรจะก่อตั้งองค์การสงเคราะห์คนหูหนวกขึ้นเป็นนิติบุคคล  เป็นเอกเทศจากทางราชการ  เพื่อจะได้สามารถเรียกร้องความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนมากขึ้น เป็นการส่งเสริมให้  ประชาชนชาวไทยสนใจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ได้รับการศึกษา และเพื่อจะเป็นทางหารายได้มาบำรุงกิจการในด้านนี้  เป็นการช่วยเงินงบประมาณแผ่นดินด้วยอีกทางหนึ่ง องค์การนี้จะให้ชื่อว่า   มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก”

หน่วยสอนคนหูหนวกดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้อาศัยห้องเรียนห้องหนึ่งของโรงเรียนเทศบาล 17 (วัดโสมนัสวิหาร) ได้เปิดขึ้นในวันฉลองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  เมื่อแรกเปิดเรียน  มีนักเรียนทั้งหมด  12  คน   ปีต่อมามีนักเรียน  49  คน  มาเรียน 2 ผลัด เช้าและบ่าย  ม.ร.ว.หญิง เสริมศรี   เกษมศรี  ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางการสอนคนหูหนวกจากสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าหน่วยสอนคนหูหนวก  และมีครูผู้ช่วย  2  คน

                เนื่องจากมีเด็กหูหนวกมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้น  จึงจำเป็นต้องมีสถานที่เรียนของตนเองเป็นเอกเทศและเป็นการถาวร  ม.ร.ว.หญิง เสริมศรี    จึงได้ติดต่อขอบริจาคสถานที่จากผู้มีจิตศรัทธาในการสงเคราะห์เด็กหูหนวก   และคุณหญิงโต๊ะ   นรเนติบัญชากิจ  ได้มีจิตศรัทธายกที่ดิน  เนื้อที่  5  ไร่  1  งาน  กับตึกที่อาศัย     ( ราคาขณะนั้น  2,500,000  บาท )  ณ  บ้านเลขที่ 137  ถนนพระราม 5  ตำบลนครไชยศรี   อำเภอดุสิต  ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวก  โดยกำหนดให้ทรัพย์สินดังกล่าว  เป็นนิติบุคคล  ชื่อว่า “มูลนิธิเศรษฐเสถียร”  เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งตระกูล  “เศรษฐบุตร”  ซึ่งเป็นนามสกุลของพระยานรเนติบัญชากิจ  และตระกูล “โชติกเสถียร”  อันเป็นนามสกุลเดิมของคุณหญิงโต๊ะเอง  มูลนิธิเศรษฐเสถียรมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดสร้างโรงเรียนสอนคนหูหนวก  และหาผลประโยชน์บำรุงโรงเรียนนี้จากความมุ่งหมายดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการดังปรากฎในหนังสือ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2495  จึงได้เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิให้ร่วมก่อตั้ง  มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก  ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้กรุณารับเป็นประธานมูลนิธิฯ และ ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม  ได้อุทิศเงินในการทำบุญคล้ายวันเกิดจำนวน   50,000 บาท ( ห้าหมื่นบาทถ้วน )  เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิฯ

                มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก   ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่  27  ตุลาคม  2495  ได้หมายเลขทะเบียนที่  112  สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ ณ  บ้านเลขที่  137  ถนนพระราม 5  ตำบลถนนนคร-ไชยศรี   อำเภอดุสิต   คือที่โรงเรียนสอนคนหูหนวก  โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า 

“เห็นสมควรจะให้โรงเรียนสอนคนหูหนวก เป็นแหล่งรวมกำลังขององค์การต่างๆ ที่จะดำเนินการสงเคราะห์แก่คนหูหนวกในประเทศไทยต่อไป  จึงได้ขอให้ใช้สำนักงานแห่งเดียวกัน  เพื่อความสะดวก  ถนัด  รวบรัด  รวดเร็ว  ในการดำเนินงานในอนาคต”

 

 

                มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2507 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์แก่มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก  เมื่อวันที่  12  สิงหาคม  2507 นับได้ว่าเป็น พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม  หาที่เปรียบมิได้  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  มูลนิธิฯ ก็ได้ชื่อว่า

“มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก  ในพระบรมราชินูปถัมภ์”

 

 

ประวัติ

bottom of page